ไปชิคาโก้มาเกือบ 4 ปีแล้ว เคยตั้งหัวข้อไว้นานแล้ว นี่เพิ่งจะมีโอกาสเอากลับมาขยายความนะคะ
ตั้งแต่เด็ก โตขึ้นมากับเสียงดนตรีร้อคแอนด์โรลที่พี่ป้าน้าอาฟัง จังหวะและท่วงทำนองก็ติดหู พอโตขึ้นมาหน่อย สมัยภาษาปะกิดยังไม่ค่อยเข้มแข็งนัก เคยได้ดูหนังเรื่อง The Blues Brothers ที่ จอห์น เบลูชี่ กับ แดน แอคครอยด์ เล่น ตอนนั้นงงๆ ในเนื้อเรื่อง แต่รู้ว่ามีศิลปินเพลงดังๆ มากมายร่วมแสดง อย่าง เรย์ ชาร์ลส หรือ อริต้า แฟร้งคลิน และที่โดดเด่นมากคือเพลงในเรื่อง ที่สุดมันส์ ดูทีไรก็สนุก แล้วก็รู้ว่าท้องเรื่องมันอยู่ในชิคาโก้ ตั้งแต่นั้นมาก็คิดว่าซักวันคงมีโอกาสได้ไปฟังดนตรีแบบชิคาโก้บลูส์แท้ๆ
สาวๆ นักท่องเที่ยวแฟน Blues Brothers เหมือนฉัน ตื่นเต้นกับภาพวาดบนกำแพงข้างถนนในชิคาโก้
เพลงบลูส์ ที่เป็นต้นกำเนิดของดนตรี ร้อคแอนด์โรล มีต้นกำเนิดมาจากทางใต้ของอเมริกา โดยทาสผิวดำจากอาฟริกา อาศัยพื้นฐานจากท่วงทำนอง และจังหวะจากเพลงที่ร้องให้จังหวะกันในหมู่คนงานในไร่ฝ้าย ฯลฯ เนื้อเพลงและท่วงทำนองจะเกี่ยวกับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต เพลงบลูส์เริ่มเป็นที่รู้จักในช่วงปี ค.ศ.1920 เป็นต้นมา ในช่วงแรกๆ นี้จะเป็นเพลงช้าๆ เศร้าๆ ร้องคู่กับกีต้าร์ เพลงในช่วงนี้ เรียก เดลต้าบลูส์ (Delta Blues) นักร้องนักดนตรี ส่วนมากจะมาจากแถว เมมฟิส จนถึง มิซซิสซิปปี้ เร่ร่อนไปเรื่อยๆ กับกีต้าร์คู่ใจ
พอหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เศรษฐกิจตกต่ำอย่างหนัก คนก็มุ่งหน้าสู่เมืองใหญ่ๆ อย่าง ชิคาโก้ เซนหลุยส์ ดีทร้อยท์ นิวยอร์ค และนำดนตรีบลูส์ไปด้วย และโด่งดังเฟื่องฟู โดยเฉพาะที่ชิคาโก้ ที่พัฒนาดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง โดยเนื้อเพลงและท่วงทำนอง เกี่ยวกับชีวิตในเมืองใหญ่ๆ และ เริ่มต้นใช้กีต้าร์ไฟฟ้า เป็นต้นกำเนิดของ เออร์บันบลูส์ (Urban Blues) หรือ อิเลคทริคบลูส์ (Electric Blues) หรือ ชิคาโก้บลูส์ (Chicago Blues) ที่กลายมาเป็นดนตรีร้อคแอนด์โรลในที่สุด
ที่พูดมานี่เป็นเหตุผลใหญ่ของการไปชิคาโก้ แต่ว่ามหานครทางตอนกลางของประเทศอเมริกาแห่งนี้ยังเป็นศูนย์กลางของศิลปะวัฒนธรรมและแหล่งกำเนิดของวิวัฒนาการหลากหลายรวมทั้งอาหารจานเลื่องชื่อ พิซซ่าแบบหนาหนัก หรือ Deep dish Chicago Pizza ด้วย เรามาดูกันว่า ในเวลา 70 ชั่วโมงนั้น แม่ Windy City* หรือเมืองลมแรงนี่ มีอะไรน่าค้นหาบ้าง (* เข้าใจมาตั้งนานว่ามีชื่อนี้ เพราะลมแรงจริงๆ แต่ได้ไปอ่านใน Lonely Planet หรือไง เห็นบอกว่า จริงๆ หมายถึงกระแสของการเงินที่สะพัดเข้ามาลงทุนในชิคาโก้ในสมัยหลังเศรษฐกิจตกต่ำ ที่แรงมากต่างหาก อ้าว ฮาาา)
ต้องขอออกตัวก่อนว่า การไปครั้งนี้ มีเวลาน้อย แต่อยากเก็บจนครบ ดังนั้นจึงค่อนข้างเป็นการท่องเที่ยวแบบทรมานบันเทิงนิดหน่อยนะคะ แต่ก็ทำได้ไม่ยากเท่าไหร่ค่ะ ตามไปเที่ยวด้วยกันเลยค่ะ
วันแรก
ฉันจับไฟล้ท์ ‘ตาแดง’ (red-eye flight) จากซานฟรานซิสโก ตอนคืนวันเสาร์ ไปถึงสนามบิน O’Hare ตอนตีห้ากว่าๆ ของเช้าวันอาทิตย์ โชคดีที่รถไฟยกระดับสาย L (เรียกกันสั้นๆ ว่า “L” หรือ แอล) วิ่งตลอด 24 ชั่วโมง ก็เลยจัดการซื้อบัตรขึ้นรถโดยสารแบบเติมเงิน Ventra Card สำหรับ 3 วัน (3-day pass) ราคา 20 เหรียญ กับค่าบัตร 5 เหรียญ ซื้อได้ที่ตู้ขายตั๋ว ขึ้นรถขนส่งมวลชน CTA ได้ตลอดเวลา 3 วัน ตอนนั้นยังเช้าเกินไป ที่พัก Airbnb ที่จองไว้ก็ยังเข้าไม่ได้ (อ่อ เจ้าของ Airbnb เป็นคนไทยด้วยค่ะ พี่เค้าน่ารักมาก) คิดว่าลากกระเป๋าไปหาอาหารเช้ากินแถวๆ Millennium Park แล้วดูถั่วยักษ์ก่อนเลยก็แล้วกัน
รถไฟยกระดับหรือ รถสาย L ที่เป็นอีกหนึ่งเอกลักษณ์ของชิคาโก้ มีระยะทางและจำนวนคนขึ้นมากรองจากรถใต้ดินในนิวยอร์ค แต่ว่าทางเข้า-ออก ขึ้นลง นี่สับสนพอสมควร เมื่อเทียบกับนิวยอร์ค หรือรถใต้ดินในยุโรป หรือแม้แต่ซานฟรานซิสโกค่ะ เล่นเอาเหนื่อยไม่เบาเลย เมื่อต้องลากกระเป๋าด้วยนี่ – ค้นพบว่า ถ้าขึ้นบันไดผิดข้างนี่ ชีวิตเศร้าได้เลยล่ะค่ะ
ใกล้ๆ Millennium Park อ่านมาว่าร้านนี้ (Wild Berry Pancake and Cafe) ดัง แต่ว่าเช้าวันอาทิตย์นี่ คิวยาวเหยียด รอไปเลยชั่วโมงนึงหรือนานกว่านั้น
รอๆๆ ไป เริ่มหิวแล้ว เลยขอซื้อกาแฟเค้า ที่นี่ขาย Intelligensia ยี่ห้อดังของชิคาโก้ กับแครอทเค้กมานั่งตากลมกินไปพลางๆ พอกินหมดก็อิ่มแล้ว ไม่นั่งไม่เนิ่งมันล่ะ มุ่งหน้าไปดูถั่วยักษ์เลยก็แล้วกัน
1. คลาวด์เกท(Cloud Gate) หรือประตูเมฆ หรือที่เรียกกันว่า “ถั่วยักษ์” หรือ เดอะบีน (The Bean)
สถานที่ในรายการอยากเห็นมากที่สุดที่หนึ่งคือ สถาปัตยกรรม “ถั่วยักษ์” ที่โด่งดังจนกลายเป็นสัญญลักษณ์ของชิคาโก้ไปในปัจจุบันค่ะ ที่นี่สร้างเสร็จเมื่อปี 2006 (เริ่มสร้าง 2004) ซึ่งฉันนั้น พอเห็นรูปปุ้บ ก็ตั้งใจว่าต้องไปดูให้ได้เลยค่ะ แล้วเดี๋ยวนี้คนอื่นๆ ก็คงคิดเหมือนกัน ฮาาาาา ถั่วยักษ์นี่ อยู่ที่ AT&T Plaza ที่ มิลเลนเนียมพาร์ค (Millennium Park) ออกแบบโดยปฏิมากรชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดียชื่อ อนิช กาปูร์ (Anish Kapoor) โดยมีแรงบันดาลใจจากรูปร่างของหยดปรอทเหลว สร้างขึ้นจากแผ่นสแตนเลส 168 ชิ้นเชื่อมติดเข้าด้วยกัน จากนั้นขัดเงาจนไร้รอยต่อ มีขนาด 33 x 66 x 42 ฟุต (10 x 20 x 13 เมตร) และมีน้ำหนักประมาณ 100 ตัน (ประมาณ 1 แสนกิโลกรัม)
ไม่รู้เค้าทำได้ยังไงนะคะ เก่งจริงๆ น่าทึ่งมาก ในวันฟ้าใส ภาพสะท้อนตึกรามสูงเสียดฟ้าของชิคาโก้จะทาบลงบนผิวถั่วได้อย่างงดงาม ข้างใต้ก็จะมี ออมฟาโลส (omphalos) หรือสะดือ ในภาษากรีก ที่หักเหภาพจากมุมต่างๆ วันๆ มีนักท่องเที่ยวมาถ่ายภาพกันมากมาย ซึ่งก็ไม่น่าสงสัย เพราะมันมีเสน่ห์ชนิดที่ดูเท่าไหร่ก็ไม่เบื่อเลยค่ะ เป็นที่ที่ต้องไปเห็นกับตาอีกที่หนึ่งเลย
2. Jay Pritzker Pavilion
ไม่ไกลจากถั่วยักษ์ มีหอสังคีตศิลป์กลางแจ้ง Jay Pritzker Pavillion ที่ไว้แสดงคอนเสิร์ตและจัดมหกรรมดนตรี เป็นสถาปัตยกรรมร่วมสมัยออกแบบโดยสถาปนิกชื่อดัง Frank Gehry นัยว่าระบบเสียงเริ่ดสะแมนแต็นทีเดียว ถ้ามีโอกาสได้ฟังดนตรีที่นี่คงจะดีไม่น้อย แต่ถึงไม่ได้ฟัง ชมอาคารก็เคลิ้มมาก เพราะออกแบบได้ดูโมเดิร์นทีเดียว
เดินเล่นมาจนสายใกล้เที่ยง ตาเริ่มปรอยแล้ว นั่งรถเมล์ไปเข้าที่พักก่อนดีกว่าค่ะ นอนพักซักงีบแล้วบ่ายๆ ค่อยออกมาลุยต่อ
3. The Magnificent Mile
ตอนบ่ายนั่งรถเมล์กลับมาที่ถนนช้อปปิ้งสายหรูหราสายใหญ่กลางกรุงบน Michigan Avenue ถนนตรงแถวนี้มันน่างงเอามากๆ เดินหลงอยู่พักใหญ่เลยค่ะ รายละเอียดจำไม่ได้แล้ว แต่รู้ว่า พอไปถึงใกล้ๆ ทางลง Navy Pier ถนนมันจะหายไป หายังไงก็ไม่เจอ ปรากฏว่าต้องลงบันไดไปข้างล่างค่ะ ยิ่งถ้าต้องต่อรถเมล์ โอ้โหหหห ฉันจะรู้มั้ยเนี่ยะ แล้วไม่ใช่กะเหรี่ยงอย่างฉันเท่านั้นที่หลงนะคะ ฝรั่งเองก็หลง มีผู้หญิงคนนึงบอก “ชั้นเดินไปกะเธอละกัน ถ้าเดินคนเดียวชั้นไม่กล้าลงไป” 🙂 ดังนั้น ข้างบนสวรรค์ของเจ้า Magnificent Mile นี่มันก็ต่างจากถนนคนเดินด้านล่างมากโขอยู่ค่ะ (คนกรุงเทพฯ คงยักไหล่แล้วบอกว่า “ชิน” มั้งเนอะคะ)
บนถนนนี้มีอะไรให้ชมให้ถ่ายภาพอย่างเพลิดเพลินค่ะ จริงๆ มี River Walk ใกล้ๆ แถวนี้ที่อยากไป แต่หาไม่เจอค่ะ อิอิ ก็เลยเดินชมตึกเก่าๆ กับศิลปะตามถนน บวก window shopping ไปพลางๆ
ศิลปะรูปปั้นม้าตัวหนึ่งในหลายสิบตัวที่สร้างขึ้นเป็นที่ระลึกให้กับตำรวจที่เสียชีวิตในหน้าที่ ตั้งอยู่ทั่วไปบน Michigan Avenue กับ ด้านหน้าของ Water Tower หอคอยที่สร้างครอบปั้มน้ำไว้ที่รอดมาจากไฟไหม้ชิคาโก้ครั้งใหญ่เมื่อปี 1871 ปัจจุบันกลายมาเป็นสัญลักษณ์ของเมืองเก่าของชิคาโก้
รูปปั้นม้าอีกตัวบน Michigan Avenue ด้านหลังเป็นทางมุ่งหน้าไป Chicago River ที่จะไปหาทางลง River Walk แต่หาไม่เจอ 🙂
ฉันแวะ Visitors Center แถว Water Tower ซื้อบัตร Chicago Citypass (ปี 2018 ราคา 106 เหรียญสำหรับผู้ใหญ่) รวมบัตรผ่านเข้าสถานที่ท่องเที่ยว 5 แห่ง คือ 1) Shedd Aquarium 2) Skydeck Chicago 3) The Field Museum 4) Museum of Science and Industry หรือ 360 CHICAGO Observation Deck และ 5) Adler Planetarium OR Art Institute of Chicago ข้อดีของ Citypass คือ เราไม่ต้องไปต่อคิวยาวเหยียดของคนที่ซื้อตั๋วเดี่ยวๆ คนมี citypass จะได้ลัดคิดแบบ VIP หรือ Fast Pass หรือ Priority Entry ส่วนตัวคิดว่าคุ้มมากค่ะ
4. 360°Chicago
ตกเย็น เราขึ้นไปชมวิวบน 360° Chicago บนชั้น 94 ของตึก Hancock Tower ที่สูง 100 ชั้น วิวมองลงไปเห็นตัวเมืองชิคาโก้ และ Lake Michigan ทางด้านซ้าย งดงามลานตามากๆ ที่นี่ห้ามเอาขาตั้งขึ้นไปค่ะ ต้องใช้วิชามารในการตั้งกล้องบนเป้เอา ช่วงที่ไปเป็นกลางเดือนตุลาคม มืดเร็ว 5 โมงนี่ก็เริ่มมืดแล้ว เลยค่อยยังชั่ว ถ่ายภาพไฟกลางคืนได้เร็วหน่อยไม่ต้องแกร่วรอนานนัก ชมวิวพอหอมปากหอมคอ เราไปกันต่ออีกซักจุดนึง ก่อนไปฟังเพลงบลูส์นะคะ
5. ป้ายไฟนีออนที่ Chicago Theatre
จุดต่อไปที่เราต้องไปถ่ายภาพคือ ป้ายไฟที่เป็นสัญลักษณ์ของชิคาโก้ที่ Chicogo Theatre อยู่ที่ North State Street แถวย่าน The Loop ค่ะ ป้ายไฟอันนี้เห็นจนชินตาจากหนัง หรือแมกกาซีนต่างๆ มาตลอด แต่พอมาเห็นของจริงด้วยตาตัวเองแล้วตื่นเต้นไม่น้อยเลยค่ะ ถึงกับอยากจะกระโดดขึ้นร้องเพลง All That Jazz เลยทีเดียว อิอิ
Chicago Theatre เดิมรู้จักกันในนาม the Balaban and Katz Chicago Theatre สร้างขึ้นเมื่อปี 1921 ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของชิคาโก้
จบจากถ่ายภาพป้ายไฟที่ Chicago Theatre ก็ได้เวลาอาหารเย็นพอดี เราไปทานอาหารค่ำเคล้าเพลงบลูส์กันค่ะ
6. ฟังเพลงบลูส์ที่ Buddy Guy’s Legends
“If you don’t think you have the blues, just keep living.” – Buddy Guy
ก่อนอื่นต้องขอบอกก่อนนะคะ ว่าไม่ได้เป็นคนมีความรู้เรื่องดนตรี อ่านโน้ตก็ไม่ออก แค่ชอบฟัง ชอบร้อง ชอบศึกษาเท่านั้น แล้วที่เอามาเล่านี่ก็อ่านๆ ของคนอื่นมาแล้วเก็บมาเล่าต่อค่ะ ผิดถูกยังไงขออภัยผู้รู้ด้วยนะคะ
ผับที่ไปชื่อ Buddy Guy’s Legends เจ้าของคือ บัดดี้ กาย (Buddy Guy) ผู้เป็นหนึ่งในนักกีต้าร์ชิคาโก้บลูส์ระดับเทพคนหนึ่ง ถือกันว่าเขาเป็นผู้ที่มีอิทธิพลสำคัญกับดนตรีประเภทนี้คนหนึ่งเลยทีเดียว เขามีอิทธิพลกับดนตรีของจอมยุทธ์กีต้าร์ในสมัยเราๆ อย่าง Eric Clapton, Jimi Hendrix, Jimmy Page, Keith Richards, Stevie Ray Vaughan, Jeff Beck และ John Mayer นิตยสาร Rolling Stone ยกให้เขาเป็นหนึ่งใน 100 นักกีต้าร์ที่เก่งที่สุดในโลก มีคนเรียกเขาว่า เป็นสะพานเชื่อมโยงระหว่างเพลงบลูส์และร้อคแอนด์โรล และเป็นรอยต่อระหว่างนักดนตรีแบบฉบับของ Chicago Electric Blues อย่าง Muddy Waters กับ Howin’ Wolf กับ นักดนตรียุคปัจจุบันอย่าง Eric Clapton Jeff Beck Jimi Hendrix ฯลฯ
Eric Clapton ถึงกับบอกว่า “บัดดี้ กายสำหรับผม เทียบเท่ากับ เอลวิส สำหรับคนอื่นๆ”
ก่อนที่ Muddy Waters ตาย ได้สั่งเสียให้ Buddy Guy สัญญาว่าจะไม่ปล่อยให้เพลงบลูส์ตายไป Buddy Guy เลยเปิดผับแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรักษาสัญญาที่ให้ไว้
ผับนี้อยู่แถว ชิคาโก้ทางตอนใต้ (South Side of Chicago) ซึ่งได้ยินมาว่า อาชญากรรมชุกชุมและค่อนข้างน่ากลัวในตอนกลางคืน ยิ่งผู้หญิงตัวคนเดียว แต่เอาน่ะ มาถึงนี่แล้วจะให้ถอยก็เสียฟอร์ม อยู่แถวเบย์ เอเรีย คนก็ว่า โอ้คแลนด์น่ากลัว เอาเข้าจริงๆ ก็ไม่มีอะไร นี่ก็คงรอดน่ะ ก็เลยนั่งรถ Lyft (เป็น rideshare แบบ Uber ที่ฉันชอบใช้มากกว่า เพราะบริษัทมีจรรยาบรรณกว่าค่ะ เค้าเริ่มที่ซานฟรานซิสโกเหมือนกัน บริษัทเล็กกว่า Uber) แทนที่จะใช้บริการขนส่งมวลชน ที่ขนาดตอนกลางวันบางสถานีก็น่ากลัวแล้ว ฮาาาา
แต่พอไปแล้วไม่ผิดหวังเลยค่ะ เจ๋ง ยังกะพิพิธภัณฑ์แน่ะ มีกีต้าร์ของคนดังๆ รวมทั้งของ Buddy Guy ด้วย ติดเต็มผนังเลย ค่าเข้า (Cover Charge) ก็ไม่แพงเลยถ้าจะว่าไปแล้ว ถูกกว่า Preservation Hall ที่นิว ออร์ลีนส์โขอยู่เลยค่ะ – วันอาทิตย์ – พฤหัส แค่ 10 เหรียญ (จำไม่ได้ว่ามี minimum ต้องซื้อ 2 ดริ้งส์ มั้ยนะคะ) ส่วน ศุกร์-เสาร์ 20 เหรียญ
กีต้าร์ของ ทอม เพ็ตตี้ (Tom Petty and the Heartbreakers) ที่ผับของ Buddy Guy – ภาพนี้ถ่ายมาหลายปีแล้ว ตอนนี้กีต้าร์ตัวนี้คงมีราคาขึ้นอีกมากโข หลังจากทอม ตายไปเมื่อปี 2017
มีเบียร์ของแกเองด้วย ชอบคันโยกรูปกีต้าร์ลายจุด น่าร้ากกกก 🙂
ตอนไปถึง ยังหัวค่ำอยู่ แม้คนยังไม่แน่นมาก แต่แถวหน้าเวทีเค้าไว้ให้คนที่มากันเป็นกรุ้ป ฉันตัวคนเดียวก็ต้องอัปเปหิไปนั่งแถวโต๊ะเล็กๆ ชิดกำแพงด้านหลัง พอตกดึกคนยิ่งเยอะ เริ่มโดนเบียดจากโต๊ะข้างๆ แต่ก็ยังฟินอยู่ค่ะ สนุกมากๆ เพลงมันส์สุดๆ ฟังเพลงไปก็คิดไปว่า ตัวเรานี่ช่างโชคดีที่โตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาในสมัยนี้ เป็นผู้หญิงหน้ากะเหรี่ยงตัวคนเดียว สะพายเป้กระเร้อกระรัง เข้ามานั่งฟังเพลงที่คนผิวดำทั้งขโยงเล่น ท่ามกลางคนผิวขาวที่เป่าปากชื่นชมเพลงอย่างอิสระเสรี ทั้งๆ ที่เมื่อ 50 ปีก่อน ผับแบบนี้คงมีแต่แบบใต้ดินเท่านั้น คนผิวสี กับคนขาวต้องแยกกันในทุกๆ อย่าง ส่วนผู้หญิงก็คงไปไหนมาไหนคนเดียวไม่ได้สะดวกอย่างปัจจุบัน … คิดพลางสูดหายใจเข้าเต็มปอด (ผับที่นี่ คนไม่สูบบุหรี่กัน เย้) แล้วยิ้มกว้างๆ … “เสรีภาพ และความเสมอภาค จงเจริ้ญ…เฮ้!!!” เอาละ ลงจากลังสบู่**ได้ 🙂
**ประโยคที่ว่า “ลงจากลังสบู่” นี่ฉันใช้กับตัวเองเป็นประจำ แต่ไม่รู้ภาษาไทยเค้าใช้กันมั้ยนะคะ มันมาจากสำนวน “Get on a soapbox” หรือ “ขึ้นไปบนลังสบู่” มาจากสมัยก่อน ที่เวลามีใครอยากจะปราศรัยเรื่องการเมือง หรือป่าวประกาศโฆษณาอะไร ก็จะเอาลังสบู่มาตั้ง แล้วขึ้นไปยืน – มาปัจจุบัน เวลาคนเริ่มร่ายยาวเรื่องปรัชญา การเมือง ศาสนา หรือความเชื่ออะไรยาวๆ ก็จะถือว่าเป็นการปีนขึ้นไปบนลังสบู่ในจินตภาพ พอร่ายจบ ก็ตะกายลงมาจากลังสบู่น่ะค่ะ 🙂
พอนั่งมาค่อนคืน ก็ต้องขอไปทำธุระส่วนตัวนิดนึงนะคะ พอกลับออกมา อ้าวววว บัดดี้ กายมา !!!!! กริ้ดดดดด รีบคว้ากล้องมือไม้สั่นไป เกือบถ่ายไม่ทันค่ะ แหม อยู่ตั้งนานก็ไม่มา พอลุกไปเข้าห้องน้ำเท่านั้นแหละ มาเชียว ป้าดดด เกือบพลาดแน่ะค่ะ ร้องสองเพลง แล้วแกกลับ โห โชคดีมากๆ พวกคนดูก็กริ้ดกันสนั่นไปค่ะ
บัดดี้ กาย ปรากฏตัวขึ้นแจมกับนักดนตรีบนเวทีโดยไม่บอกล่วงหน้า
ใจจริงอยากอยู่ถึงเค้าเลิกเล่นเลย แต่สังขารเริ่มไม่ไหวค่ะ เพราะก่อนหน้านั้นลุยมาทั้งวันแล้ว เลยต้องอำลาความสนุกไปแต่เพียงหอมปากหอมคอ กลับถึงที่พัก เข้านอนด้วยความอิ่มอกอิ่มใจ จนอยากจะลุกขึ้นมากระโดดไปรอบๆ ห้องแล้วร้องเพลง I could have danced all night อย่าง Elisa Doolittle ใน My Fair Lady เลยล่ะค่ะ – อ้าว เอ๊ะ ผิดเรื่อง 🙂 แต่ว่าความรู้สึกเดียวกันเป้ะเลย
วันที่สอง
7. สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก้ (Art Institute of Chicago)
สถาบันศิลปะแห่งชิคาโก (Art Institute of Chicago หรือ AIC) เป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่มีชื่อเสียงเกี่ยวกับงานสะสมในยุค Impressionism (ลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์) และยุค Post-Impressionism (ลัทธิโพสต์อิมเพรสชั่นนิสม์หรือ ลัทธิอิมเพรสชั่นนิสม์ยุคหลัง) ที่ดีที่สุดสถาบันหนึ่งในโลก นอกจากนี้ยังมีงานภาพชิ้นสำคัญ ๆ ของอเมริกันในศิลปะสมัยใหม่ และศิลปะร่วมสมัย สถาบันศิลปะเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนสถาบันศิลปะแห่งชิคาโก ที่มีเนื้อที่หนึ่งล้านตารางฟุต และเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของสหรัฐอเมริกา รองจากพิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิทัน (The Metropolitan Museum) ในนครนิวยอร์ก
ส่วนตัวแล้วเป็นคนชอบศิลปะในยุค Impressionism (ศตวรรษที่ 19) และ Post-Impressionism (ศตวรรษที่ 20) เอามากๆ ติดตามชมมาตลอด เมื่อมีโอกาส นานมาแล้วเคยได้ไปชมงานศิลป์ที่พิพิธภัณฑ์ดอร์เซย์ (Musée d’Orsey) ในปารีส ที่ได้ชื่อว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงงานยุคนี้ที่ดีที่สุดในโลก ก็ตื่นตามาก ปลาบปลื้ม แล้วพอได้มาชมที่ชิคาโก้นี่ เรียกได้ว่ามีงานศิลปะชิ้นเยี่ยมๆ มากมายอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียวค่ะ (ตอนแรกไม่ได้อ่านละเอียด รู้แต่ว่าใครมาชิคาโก้ต้องมาที่นี่ แต่พอได้เห็นภาพที่แสดงแล้ว กลับมาอ่าน โอ้โห เหมือนกับเจอขุมทรัพย์ค่ะ) สำหรับคนที่ชอบเสพย์งานศิลปะ ไม่ควรพลาดอย่างยิ่งค่ะ เดินทั้งวันก็ไม่เบื่อเลย เสียค่าเข้าชม 25 เหรียญถ้าไม่มี Citypass (ข้อมูลปี 2018)
ยุค Impressionism มีจิตกรเอกอาทิเช่น เอดัวร์ มาเนท์ (Édouard Manet), โกล้ด โมเนท์(Claude Monet), กามีย์ ปีซาโร (Camille Pissarro), ปีแยร์-โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre-Auguste Renoir), เอ็ดการ์ เดอการ์ (Edgar Degas) เป็นต้น
ถนนในปารีส วันฝนตก โดย กุสตาฟ คายบาต (Paris Street; Rainy Day / Rue de Paris, temps de pluie), 1877 by Gustave Caillebotte
ภาพ บ่ายวันอาทิตย์บนเกาะกรองด์จั้ต หนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดของ จอร์จ เซอร์ราท์ (A Sunday Afternoon on the Island of La Grande Jatte/ Un dimanche après-midi à l’Île de la Grande Jatte), 1884, by Georges Seurat
ส่วนยุค Post-Impressionism ก็มีจิตกรเอกอย่าง วินเซนต์ แวนโกะ (Vincent Van Gogh) ปิแอร์ โบนนาร์ (Pierre Bonnard) ปอล เซซาน (Paul Cezanne) และ ปอล โกแกง (Paul Gauguin)
เธอโกรธทำไม โดย ปอล โกแก็ง (Why Are You Angry? No te aha oe riri), 1896 by Paul Gaugin
ภาพห้องนอน โดย แวนโกะ (The Bedroom), 1889 by Vincent van Gogh
นอกจากศิลปะที่กล่าวข้างต้นแล้ว ที่นี่ยังมีภาพเขียนตัวจริงที่สำคัญของจิตกรอเมริกันที่เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายกันด้วย อย่าง Nighthawks หรือ เหยี่ยวราตรี ของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper) กับ American Gothic ของ Grant Wood น่าเสียดายที่ตอนฉันไป เค้าส่งภาพหลังให้พิพิธภัณฑ์อื่นยืมไปแสดง เลยได้ชมแค่ภาพแรกค่ะ
Nighthawks หรือ เหยี่ยวราตรี, 1942 ของ เอ็ดเวิร์ด ฮอปเปอร์ (Edward Hopper)
ปิดท้ายด้วยงานชิ้นที่ชอบมากๆ อีกชิ้นนึง เป็นกระจกสีแบบ stainglass ของ มาร์ก ชากาล (Marc Chagall)
ที่ยกมาเล่านี้เป็นเพียงแค่ปลายก้อยของงานศิลปะมหาศาลนะคะ เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใครมีโอกาสมาชิคาโก้แล้ว พลาดไม่ได้เลยทีเดียวค่ะ
8. ปฏิมากรรมชิ้นเยี่ยมในที่สาธารณะทั่วไป (Public Art)
บ่ายๆ มีเวลาเหลือ หาที่เดินเล่นฆ่าเวลาก่อนพระอาทิตย์ตกกันค่ะ นอกจากพิพิธภัณฑ์ต่างๆ แล้ว ชิคาโก้ยังมีปฏิมากรรมของศิลปินโด่งดังมากมายตั้งอยู่ตามที่สาธารณะต่างๆ เราสามารถดาวน์โหลดแผนที่มาเดินตามไปดูได้เลยค่ะ ตัวอย่าง สองชิ้นที่ชอบมากๆ คือ
The Picasso (1967) โดย Pablo Picasso หน้าตึก Richard J. Daley Civic Center Plaza
Flamingo (1974) โดย Alexander Calder หน้าตึก Federal Center Plaza
9. Rookery Building ตึกประวัติศาสตร์ชาติ และ Rookery Light Court ที่ออกแบบโดย Frank Lloyd Wright
Rookery Light Court ของตึก Rookery Building ที่ออกแบบโดย สถาปนิกแฟร้งค์ ลอยด์ ไร้ท์ (Frank Lloyd Wright)
ปัจจุบันเราเห็นตึกระฟ้า จำนวน 100 ชั้นขึ้นไปเป็นเรื่องธรรมดาเสียเหลือเกิน แต่สมัยก่อนคงไม่ใช่เรื่องง่าย และตึกระฟ้าเกิดขึ้นครั้งแรกในชิคาโก้นี่แหละ เมื่อมีการคิดทำเหล็กกล้าขึ้นมาได้ แล้วนำมาใช้เป็นโครงสร้างตึก แทนการก่ออิฐถือปูนดังแต่ก่อน เพราะฉะนั้น การชื่นชมป่าคอนกรีตจึงเป็นสิ่งควรทำอย่างยิ่งในเมืองนี้
ที่นี่เค้ามีทัวร์ด้วยวันละหลายรอบค่ะ จัดโดย Frank Lloyd Wright Trust ค่าทัวร์คนละ 10 เหรียญ แต่ตอนไปถึงทัวร์หมดเสียแล้ว น่าเสียดายจัง แต่ยังได้ถ่ายรูปมา ก็ยังดี ส่วนตัวตึก Rookery Building เองนี่ก็ได้รับการจดทะเบียนเป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งชาติ โดยตึกนี้นับว่าเป็นตึกสูงที่เก่าแก่ที่สุดในชิคาโก โดยสร้างเสร็จเมื่อปี 1888
10. Skydeck Chicago
ใกล้ค่ำ เราก็ไป Skydeck Chicago ที่อยู่บนชั้นที่ 103 ของตึก The Willis Tower หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ Sears Tower ที่เคยเป็นตึกที่สูงที่สุดในโลก (110 ชั้น) ไม่มีใครลบอันดับอยู่หลายสิบปีค่ะ ที่นี่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวมาก ขนาดมี fast pass จาก Citypass แล้วนะคะ จะรอถ่ายรูปแบบเราลอยอยู่เหนือโลกนี่ยากมากๆ ค่ะ คนเยอะจนเหนื่อย
แล้วที่นี่ก็ห้ามเอาขาตั้งขึ้นเหมือนกัน (ถ้าถือมาต้องฝากไว้แล้วกลับลงมาเอา) ดังนั้นการถ่ายภาพกลางคืนนี่ทุลักทุเลพอสมควรเลยค่ะ ต้องหมอบอยู่ใกล้ๆ พื้นใต้จักกะแร้คนประมาณล้านเจ็ด แล้วเอากล้องตั้งบนเป้เอา ได้มาเท่านี้ถือว่าบุญอย่างแรงส์ค่ะ อ้อ พยายามลบอย่างที่สุดแล้ว แต่ถ้ามองดีๆ จะเห็นเป็นจุดๆ จากกระจกที่สกปรกมากกกกนะคะ ฮาาาาาาา
วันที่สาม
วันนี้เริ่มรู้สึกล้านิดหน่อย ตอนเช้าอากาศอึมครึมเลยขอแว้บเข้าไปนั่งทานอาหารเช้าที่ร้านเล็กๆ แถวๆ ที่พักซักหน่อยก่อนเริ่มกิจกรรมของวันนี้ค่ะ
กินเสร็จ กระชุ่มกระชวยแล้ว วันนี้เราไปแกะรอยไดโนเสาร์กันนะคะ
11. ไปทักทาย ซู ไดโนเสาร์ที–เร็กซ์ ที่ใหญ่ที่สุดและ สมบูรณ์ที่สุดที่เคยพบ ที่ The Field Museum
คนที่เคยดูหนังเรื่อง Night at the Museum คงจะคุ้นหน้าคุ้นตา แม่ ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือ ที-เร็กซ์ (Tyrannosaurus rex : T–rex) ที่ชื่อ ซู กันดี แม่ซูถือว่าเป็นโครงกระดูกของที-เร็กซ์ที่ใหญ่ที่สุดและสมบูรณ์ที่สุดที่เคยค้นพบ โดยตั้งชื่อตามนักธรณีวิทยาดึกดำบรรพ์ผู้ค้นพบ คือ ซู เฮ็นดริกสัน (Sue Hendrickson) เมื่อปี 1990 ที่รัฐเซ้าท์ดาโกต้า (South Dakota) หลังจากมีเรื่องทะเลาะกันเรื่องกรรมสิทธิ์นานพอควร Field Museum ก็ประมูลได้มาในราคา 8.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 1997 ถือว่า เป็นการจ่ายค่ากระดูกไดโนเสาร์ที่แพงที่สุด
น่าเสียดายที่ในปี 2018 นี่ ซูถูกย้ายขึ้นไปอยู่อีกห้องหนึ่งแล้ว น่าจะเสร็จให้ชมได้ ในปี 2019 ค่ะ
ที่นี่ยังมีนิทรรศการเรื่องวิทยาศาสตร์และธรรมชาติอื่นๆ ให้ชมอีกมากมายเลยค่ะ
12. Shedd Aquarium
ที่นี่เปิดมาตั้งแต่ปี 1930 ตั้งอยู่บน Lake Michigan และ เคยเป็น aquarium ในร่มที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่นานพอสมควร ตอนที่ไปถึงเหนื่อยมากที่สุดแล้ว แถมพายุทำท่าว่าจะมาอย่างแรง เลยจำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากนั่งดูประดาน้ำลงไปให้อาหารปลา 🙂
ถึงตอนนี้พอเห็นปลากิน ก็อยากกินขึ้นมาบ้างล่ะสิคะ
เกือบครบแล้วกับสิ่งที่อยากเห็นและอยากทำในชิคาโก้ เหลืออีกอย่างเดียวคือกิน deep dish chicago pizza แต่มาถึงตอนนี้ร้านที่เค้าว่าดังๆ ทุกร้าน แน่นเอี้ยด ท้องที่ร้องจ้อกๆ ก็บอกว่าไม่อยากรอแล้ว เดินๆ ไป เจอร้านสเต็กร้านนึง จำชื่อไม่ได้ซะแล้ว หน้าตาดี๊ดี จัดการซะเลยทันที
สเต็กเนื้อนุ่มเสริฟมากับหางล้อปเสตอร์ กับมันฝรั่ง แกล้ม บลั้ดดี้แมรี่…มันช่างเป็นการจบวันที่งดงาม
บทสรุป
70 ชั่วโมงผ่านไป ตื่นตาตื่นใจ เดินจนขาลากแล้วลากอีก แต่ชิคาโก้เป็นเมืองที่น่าสนใจมากๆ สมแล้วที่เป็นคู่แข่งสำคัญของนิวยอร์ค สำหรับคนที่ชอบศิลปะและสถาปัตยกรรม ชิคาโก้มีอะไรให้ค้นหามากมาย เพราะวิวัฒนาการของเทคโนโลยีการก่อสร้างและออกแบบเริ่มมาจากที่นี่ อย่างที่ Frank Gehry บอกว่า
“Chicago’s one of the rare places where architecture is more visible”
เวลา 70 ชั่วโมง ไม่มากนักที่จะทำให้ได้หยุดดื่มด่ำประสบการณ์แบบ slow life แต่ก็นับว่าได้เก็บเกี่ยวสิ่งที่ตั้งใจมาแสวงหาเต็มที่แล้วเหมือนกัน แล้วถ้ามีเวลามากกว่านี้ หรือมาคราวหน้า สิ่งที่ยังอยากทำอีกหลายอย่างคือ 1) นั่งเรือล่องแม่น้ำกับ Chicago Architecture Foundation 2) เดินเล่นที่ Riverwalk 3) ดูเบสบอล ทีม Chicago Cubs เล่นที่สนาม Wrigley Field ในตำนาน 3) ไปดูทีม Chicago Bulls เล่นบาสเก็ตบอล ฯลฯ ตอนนี้คิดได้แค่นี้ค่ะ ตอนนี้ขอลาไปก่อนนะคะ